30 พฤศจิกายน 2552

สารสนเทศการศึกษาคืออะไร

ความหมาย
สารสนเทศ อ่านว่า สาระ-สน-เทศสาร หรือ สาระ เป็นคำประกอบหน้าคำ แปลว่า สำคัญ สนเทศ หมายถึง คำสั่ง ข่าวสาร ใบบอก สารสนเทศ จึงหมายถึงข่าวสารที่สำคัญ เป็นระบบข่าวสารที่กำหนดขึ้น และจัดทำขึ้นภายในองค์การต่างๆ ตามความต้องการของเจ้าของหรือผู้บริหารองค์การนั้นๆ สารสนเทศ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Information สำหรับคำว่า Information นั้น พจนานุกรมเวบสเตอร์ ให้ความหมายไว้ว่า ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าสารสนเทศ เป็นความรู้และข่าวสารที่สำคัญที่มีลักษณะพิเศษ ทั้งในด้านการได้มาและประโยชน์ในการนำไปใช้ปฏิบัติ จึงได้มีการประมวลความหมายของสารสนเทศไว้ใกล้เคียงกัน ดังนี้
สารสนเทศ หมายถึงข้อมูลทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพที่ประมวลจัดหมวดหมู่ เปรียบเทียบ และวิเคราะห์แล้วสามารถนำมาใช้ได้ หรือนำมาประกอบการพิจารณาได้สะดวกกว่าและง่ายกว่า
สารสนเทศ คือข้อมูลที่ได้รับการประมวลให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายต่อผู้รับ และมีทั้งคุณค่าอันแท้จริง หรือที่คาดการณ์ว่าจะมีสำหรับการดำเนินงานหรือการตัดสินใจในปัจจุบันและอนาคต
สารสนเทศ หมายถึง ข่าวสารที่ได้จากการนำข้อมูลดิบมาคำนวณทางสถิติ หรือประมวลผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งข่าวสารที่ได้ออกมานั้นจะอยู่ในรูปที่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที
หากพิจารณาจากความหมายของสารสนเทศที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นว่าสารสนเทศมีคุณลักษณะที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

1. เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
2. เป็นรูปแบบที่มีประโยชน์ นำไปใช้งานได้
3. มีคุณค่าสำหรับใช้ในการดำเนินงานและการตัดสินใจ
สารสนเทศเพื่อการศึกษา หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร
นำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆได้ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศช่วยในการเรียนการสอน
2. การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม
3. การประชุมทางไกลระบบจอภาพ
4. ระบบฐานข้อมูลการศึกษา
5. ระบบสารสนเทศเอกสาร

คำถาม
1.สารสนเทศหมายถึงอะไร
2.สารสนเทศการศึกษาหมายถึงอะไร
3.สารสนเทศมีคุณลักษณะที่สำคัญ3ประการได้แก่อะไรบ้าง
4.ประโยชน์ที่ได้จากสารสนเทศการศึกษาคืออะไรบ้าง



ที่มา : เทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา (11-15) โดย ชม ภูมิภาค
http://www.csjoy.com/story/net/tne.htm

23 พฤศจิกายน 2552

นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร


นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การทำสิ่งใหม่ๆ หรือ ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา มาจาก คำภาษาอังกฤษว่า Innovate มาจากคำว่า Innovare ซึ่งหมายถึง to renew, to modify อาจแปลความหมายได้ว่า ทำใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆเข้ามา (บุญเกื้อ,2543) นอกจากนี้ยังมีนักการศึกษาให้คำนิยามต่างๆไว้ดังนี้
Thomas Hughes ได้ให้ความหมาย " นวัตกรรม " ว่าเป็นการนำวิธีการใหม่ๆ มา ปฏิบัติ หลังจากได้ผ่านการทดลอง หรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจมีการทดลองปฏิบัติก่อน(Pilot project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา
มอร์ตัน (J.A. Morton, 1973) กล่าวว่า " นวัตกรรม " หมายถึง การปรับปรุงของเก่าให้ใหม่ขึ้น และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุง เสริมแต่ง และพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2526) ได้ให้ความหมาย " นวัตกรรม " ไว้ว่า หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆขึ้นมา หรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสม และสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ได้รับการทดลองพัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีทางปฏิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บุญเกื้อ ครวญหาเวช (2543) กล่าวว่า นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง เป็นการนำเอาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความคิด หรือ การกระทำ รวมทั้ง สิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากความหมายของ " นวัตกรรม " ที่กล่าวมา ดังนั้น " นวัตกรรมการศึกษา " คือ การนำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยหลักการ ทฤษฎี ที่ได้ผ่านการทดลองวิจัยจนเชื่อถือได้ เข้ามาใช้ในการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการเรียนการสอน
ลักษณะเด่นที่จัดว่าเป็นนวัตกรรมการศึกษา
1. จะต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด หรือบางส่วนอาจใช้เป็นของเก่าที่ใช้ในอดีตแล้วนำมาปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
2. มีการ ศึกษา ทดลอง โดยอาศัยหลักการ ทฤษฎี มาใช้อย่างเป็นระบบ
3. มีการพิสูจน์ด้วยการทดลองหรือวิจัย
4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน หากว่า สิ่งใหม่ นั้นได้มีการเผยแพร่จนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แล้วจะกลายเป็นเทคโนโลยี

เทคโนโลยีการศึกษาคืออะไร


1.เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ตามรูปศัพท์ เทคโน (วิธีการ) + โลยี(วิทยา) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการ มาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้นเทคโนโลยีทางการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ (boonpan edt01.htm) สภาเทคโนโลยีทางการศึกษานานาชาติ ได้ให้คำจำกัดความของ เทคโนโลยีทางการศึกษา ว่าเป็นการพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ ให้สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น (boonpan edt01.htm)ดร.เปรื่อง กุมุท ได้กล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า เป็นการขยายขอบข่ายของการใช้สื่อการสอน ให้กว้างขวางขึ้นทั้งในด้านบุคคล วัสดุเครื่องมือ สถานที่ และกิจกรรมต่างๆในกระบวนการเรียนการสอน (boonpan edt01.htm) Edgar Dale กล่าวว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา ไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการหรือวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบ ให้บรรลุผลตามแผนการ (boonpan edt01.htm) นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศนศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการศึกษา มีความหมายที่กว้างกว่า




2. เทคโนโลยีทางการศึกษา(Educational Technology) เทคโนโลยีทางการศึกษา หมายถึงการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตรมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาการศึกษา การศึกษา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจาก ประสบการณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป หมายถึงการระดมสรรพความรู้ที่มีเหตุผล (พิสูจน์ได้)มาประยุกต์ให้เป็นระบบที่ดีสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อแก้ใขปัญหาให้บรรลุจุดมุ่งหมาย (เป้าประสงค์) ของการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้ทรัพยากร อย่างประหยัด อันที่จริง แก่นแท้ของเทคโนโลยีการศึกษา ก็คือ วิธีการแก้ปัญหาให้แก่การศึกษาด้วยการคิดไตร่ตรองหาทางปรับปรุงเกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้วยการตั้งข้อสงสัย และทำไปอย่างเป็นระบบ ก่อนหน้าที่จะมีการกล่าวถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา เราคุ้นเคยอยู่กับ โสตทัศนศึกษากันแล้ว แม้กระทั่งเดี่ยวนี้ คนก็ยังคิดว่า โสตทัศศึกษา ก็คือ เทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีทางการศึกษา ก็คือ โสตทัศนศึกษา ที่คิดอย่างนั้น ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง โดยเฉพาะความคิดแรก แต่มันมีความถูกต้องไม่มากนักหรือเกือบผิด ก็ว่าได้ ความคิดหลังนั้น ถูกตรงที่ โสตทัศนศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางการศึกษาเท่านั้น


10 พฤศจิกายน 2552

โรคที่มากับน้ำท่วม


ช่วงนี้หลายจังหวัดในภาคใต้เกิดน้ำท่วม ซึ่งวันนี้ผู้เขียนก็มีโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมมาบอกกล่าวเพื่อให้ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพได้รู้เท่าทันและนำไปปฏิบัติกันได้ เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่มีโรค!


โรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือจากแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา
หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง
ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว
โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัส adenovirus, enterovirus และ coxsackie virus A24 ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง ไม่ติดต่อจากการสบตา จ้องตา ไม่ติดต่อทางอากาศ หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน อาการเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน
การศึกษาระบาดวิทยาโมเลกุล พบว่าเกิดจากเชื้ออะดีโนไวรัส 3 ชนิดในสัดส่วนดังนี้ HAdV-8 พบมากที่สุดร้อยละ 80 ส่วนชนิด HAdV-3 และ HAdV-37 พบเท่าๆ กัน อย่างละประมาณร้อยละ 10 ของทั้งหมด โดยศึกษาด้วยวิธีวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัส
โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาที่ติดเชื้อไวรัสติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตา ของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือ อาการเกิดได้ ภายใน 1-2 วัน สามารถติดต่อได้ง่ายมาก โดยการคลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือ และใบหน้า ผู้ป่วยโรคตาแดงจะมีอาการตาแดง เคืองตา ตาขาวจะมี สีแดงเรื่อๆ น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามากจากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดอยู่เสมอไม่คลุกคลีใกล้ชิด และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาดอยู่เสมอ


โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน
ในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้
ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน
โรคน้ำกัดเท้า และผื่นคัน โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต จะมีอาการคันจากเชื้อราที่มาจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานจนทำให้ราร้ายตัวนี้เจริญเติบโตไปตามซอกนิ้วเท้า โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้าผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนา พบบ่อยที่ซอกนิ้ว แต่อาจลุกลามไปถึงฝ่าเท้า และเล็บได้ การรักษา และป้องกันทำได้โดยล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็คให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น และไม่ใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน


โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส
โรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้น ดินที่ชื้นแฉะได้นาน
เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด
ช่วงน้ำท่วมมักจะเกิดการระบาดได้ในหลายพื้นที่ โรคนี้มักจะระบาดในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมากที่สุด ก็คือ ในช่วงน้ำลด เนื่องจากชาวบ้านต่างลุยน้ำ ย่ำโคลน เพื่อทำความสะอาดบ้านเรือนและไปทำนา ทำให้เกิดบาดแผลจากกระจก แก้ว ตะปู และของมีคมอื่นๆ บาดแผลที่เท้าเกิดขึ้นได้ง่ายมากครับ อีกอย่างหนึ่งก็มักจะมีปัญหาเรื่องเท้าเปื่อยจากน้ำกัดเท้า เชื้อเล็ปโตสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย
มักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 -10 วัน โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน หากมีอาการดังกล่าวหลังจากที่สัมผัสสัตว์ หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที
ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้
ป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส เป็นโรคติดต่อที่ระบาดจากโรคของสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะหนู ติดต่อมาถึงคนได้โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะหนูแล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ขึ้นแฉะ


ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ

05 พฤศจิกายน 2552

วิธีป้องกันไข้หวัด 2009

เริ่มต้นเข้าสู่ต้นเดือนพฤศจิกายน ความหนาวเย็นก็เริ่มตามมาเช่นกัน โรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมๆกับอากาศที่หนาวเย็นเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นโรคหวัด ที่ไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็หนีไม่พ้น วันนี้เลยมีวิธีป้องกันไข้หวัด 2009 มาฝากกับผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น
6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม
4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม
5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ

มีวิธีป้องกันโรคไข้หวัด2009 กันแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ